วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไอเดียเริ่มเรื่อง (1) สถานที่และบรรยากาศ

ตอนนี้เรายังคุยกันในเรื่อง
การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มนิยายเรื่องใหม่
อยู่นะครับ ถ้าตามไม่ทัน ย้อนกลับไปอ่านลิงก์ข้างบนก่อนได้นะครับ

สถานที่และบรรยากาศเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดไอเดียที่ง่ายที่สุด และเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด แทบจะจับต้องได้เลยเชียวครับ  เหมือนที่เราเคยได้ยินคนพูด (หรืออาจจะเคยคิดเอง) ว่า อยากเขียนนิยายแนวทะเลทราย (ก็คือเรื่องราวเกิดขึ้นในดินแดนทะเลทราย) อยากเขียนเรื่องการผจญภัยในป่า อยากเขียนเรื่องรักในมหาวิทยาลัย หรืออยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับการทำไร่นา เป็นต้น

นิยายแต่ละเรื่องให้ความสำคัญกับสถานที่และบรรยากาศไม่เท่ากันนะครับ

(1) บางเรื่องให้ความสำคัญมาก ถือเป็นจุดเด่นในเรื่องเลยทีเดียว เช่น เรื่องแนวทะเลทราย สถานที่และบรรยากาศเป็นจุดเด่นถึงขนาดที่ว่าเป็น "แนวนิยาย" ของตัวเองได้เลย บางเรื่องให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนประกอบหลักของเรื่องราว แต่ไม่ถึงขนาดว่าเป็น "แนวนิยาย" ตัวอย่างเช่น นิยายที่เขียนเกี่ยวกับการผจญภัยในป่า นิยายที่เขียนเกี่ยวกับไร่นาการเกษตร เป็นต้น

(2) บางเรื่องใช้สถานที่และบรรยากาศเป็นเพียงเวทีสำหรับให้เรื่องราวดำเนินไป แต่ไม่ได้เด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ มักจะเป็นสถานที่ที่คนทั่วไปคุ้นเคย มักจะเป็นฉากในเมือง และมักจะเป็นสถานที่ที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นที่นั้นที่นี้ เรียกว่าจะเป็นที่ไหนก็เกือบจะได้ เช่น บ้าน คอนโด สวนสาธารณะ สำนักงาน ร้านค้า ห้าง ร้านอาหาร

(3) บางเรื่องใช้สถานที่และบรรยากาศเป็นเวทีเหมือนกัน แต่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวมากกว่า เรียกว่าต้องเป็นที่นี่นะ ต้องมีลักษณะอย่างนี้นะ เป็นตัวช่วยเอื้อให้เหตุการณ์เกิดได้ง่ายขึ้น หรือเป็นไปในทิศทางที่คนเขียนต้องการได้ง่ายขึ้น หรือเป็นกรอบที่เรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นภายในนี้ เช่น เรื่องรักในมหาวิทยาลัย จะมีกลิ่นอายบรรยากาศชีวิตนักศึกษาอบอวลอยู่มาก (แต่ไม่ถึงกับเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวอย่างแบบแรก) หรือเรื่องรักที่เกิดขึ้นในรีสอร์ต บนเขา ชายทะเล เกาะ เป็นต้น

นิยายหนึ่งเรื่องมักจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในหลายสถานที่ แต่บางเรื่องจะมีสถานที่หลักที่เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้น สถานที่หลักเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดบรรยากาศของเรื่องไปโดยปริยาย

เช่นถ้าเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเกาะ แม้จะมีฉากในเมืองหรือบนฝั่งบ้าง แต่คนอ่านก็จะรู้ว่าเวทีของเรื่องนี้ แท้จริงแล้วอยู่บนเกาะ

หรือเรื่องรักในมหาวิทยาลัย ก็จะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกรั้วบ้าง เช่น ที่บ้าน หรือไปทัศนศึกษาต่างจังหวัด แต่บรรยากาศชีวิตนักศึกษาก็จะตามติดไปทุกที่

หรือนิยายแนวทะเลทราย ก็อาจจะมีหลายฉากที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ทะเลทรายด้วย เช่น ประเทศไทย หรือประเทศฝรั่ง แต่คนอ่านก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องแนวทะเลทรายอยู่ดี

แล้วทำไมคุณพีทถึงเขียนว่า "สถานที่และบรรยากาศ" มันต่างกันอย่างไร ใช้คำว่า "สถานที่" อย่างเดียวไม่ได้หรือ?

ที่จริงมันเป็นคนละอย่างกันนะครับ แต่เวลาเขียนนิยาย สองอย่างนี้มันเกี่ยวพันกันมาก มักจะไปด้วยกัน สอดคล้องกัน พึ่งพากัน มันก็เลยง่ายกว่าถ้าจะคิดไปด้วยกัน แต่ถ้าอยากทำความเข้าใจแยกแยะก็มีประโยชน์เหมือนกันครับ

สถานที่ คำนี้เข้าใจง่าย ก็คือพื้นที่ พื้นดิน สิ่งปลูกสร้าง อาคาร อาณาเขต เป็นเรื่องของสิ่งของ สามารถเขียนในแผนที่ได้ วัดขนาดกว้างยาวสูงได้ จับต้องได้ เช่น พื้นที่ทะเลทราย พื้นที่ป่า พื้นที่รีสอร์ต พื้นที่ชายทะเล พื้นที่เกาะ พื้นที่ในเขตมหาวิทยาลัย พื้นที่ไร่นา เป็นต้น

บรรยากาศ คำนี้เป็นนามธรรม ดูมัวๆ จับต้องไม่ได้ แต่คนสามารถ "รู้สึก" ได้ เป็นความรู้สึกที่สืบเนื่องมาจากพื้นที่แห่งนั้น ผูกพันกับพื้นที่เหล่านั้น และบางทีคนก็คิดถึงพื้นที่และความรู้สึกนั้นไปพร้อมๆ กันไม่ได้แยกแยะ

เช่น พูดถึงทะเลทราย นอกจากตัวพื้นที่ที่มีทรายเยอะๆ มีปิระมิด มีเมืองแห้งแล้ง มีโอเอซิส คนยังนึกถึงบรรยากาศอีกหลายอย่าง เช่น ความร้อน อูฐ ความเวิ้งว้าง อันตราย ความลึกลับ บางคนอาจจะนึกถึงพายุทราย บางคนนึกถึงเนินทรายที่เป็นลูกคลื่น บางคนนึกถึงกระโจมของชนเผ่าเร่ร่อน บางคนอาจจะนึกไปถึงแมงป่องที่ซ่อนตัวอยู่ในทราย  ในแง่ของการเขียน/อ่านนิยาย คนยังนึกต่อไปถึงชีคหนุ่มหล่อตาคมผิวขาวเคราเข้ม ที่ร้อนแรง เอาแต่ใจ ไม่ยอมใคร (แต่ยอมนางเอกคนเดียว) นึกถึงการลักพาตัว การเดินทางข้ามทะเลทราย เห็นมั้ยครับว่า พื้นที่ทะเลทรายเพียงอย่างเดียว แต่มีบรรยากาศต่างๆ พ่วงท้ายมาด้วยมากมายเหลือเกิน

พื้นที่อื่นๆ ก็เหมือนกันครับ บางพื้นที่จะมีบรรยากาศเกือบเป็นสูตรสำเร็จติดมาด้วย บางพื้นที่อาจจะมีบรรยากาศหรือความรู้สึกได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับนิยายแต่ละเรื่อง สุดแต่คนเขียนจะเลือกใช้ เช่น พื้นที่ป่า อาจจะเป็นป่าลึกลับอันตรายในแนวของเพชรพระอุมา อาจจะเป็นป่าร่มรื่นสวยงามตามแบบนิทานฝรั่ง หรืออาจะเป็นป่าที่มีความขัดแย้งของการลักลอบตัดไม้ อันตรายในแนวแอคชั่นก็ได้

แล้วมันช่วยในการสร้างไอเดียเริ่มเรื่องได้ยังไง?

ถ้านิยายของเราเป็นแบบที่ (2) ข้างต้น คือสถานที่เป็นแค่เวทีให้เกิดเหตุการณ์ แต่ไม่ได้เกี่ยวพันกับตัวเหตุการณ์เท่าไหร่ ตรงนี้ไอเดียเกี่ยวกับสถานที่ก็อาจจะมีประโยชน์น้อยหน่อยครับ เราจะมานั่งออกแบบบ้านนางเอก คอนโดพระเอก หรือที่ทำงานผู้ร้าย ก็ย่อมได้ไม่เสียหาย แต่มันก็ไม่ทำให้เราคิดออกสักเท่าไหร่ว่าเรื่องราวในนิยายจะเป็นยังไง ถ้าเป็นแบบนี้ก็ข้ามไปคิดไอเดียจากหัวข้ออื่นดีกว่า

แต่ถ้านิยายของเรามีทีที่ว่าจะเป็นแบบที่ (1) คือสถานที่เป็นจุดเด่นของเรื่อง หรือแบบที่ (3) คือสถานที่เป็นเวที แต่มีส่วนสัมพันธ์กับเหตุการณ์และความรู้สึกในเรื่อง การคิดเรื่องสถานที่ก็สามารถช่วยให้เราสร้างไอเดียสำหรับเรื่องราวต่อได้ไม่น้อยเหมือนกันครับ

นอกจากนิยายแนวทะเลทรายแล้ว ก็ยังมีนิยายแนวอื่นที่สถานที่และบรรยากาศมีประโยชน์มากต่อการคิดสร้างเรื่องครับ เช่น นิยายแนวแฟนตาซี นิยายแนววิทยาศาสตร์และจินตนาการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใช้ฉากเป็นโลกอื่นที่ไม่ใช่โลกปัจจุบันที่เราอยู่ เช่น โลกต่างดาว อาณานิคมบนดาวอื่น โลกอดีต โลกอนาคต หรือโลกต่างมิติ) นิยายแนวเหนือธรรมชาติ (มักใช้ฉากเป็นโลกปัจจุบันที่เราอยู่ แต่มีส่วนประกอบบางอย่างที่เหนือธรรมชาติ) หรือนิยายแนวอิงประวัติศาสตร์ เป็นต้น

แล้วต้องคิดอะไรบ้าง? คิดแค่ไหน?

ถ้าแบบประหยัดแรงที่สุดก็ตอบว่า คิดเท่าที่คิดว่าจะต้องใช้ในการเขียนครับ แต่ถ้าเป็นคุณพีทเอง ก็คิดไปเรื่อยๆ เท่าที่ยังสนุกอยู่และยังคิดไหว เพราะไอ้ที่เรายังไม่รู้ว่าจะต้องใช้หรือเปล่า พอลงมือเขียนจริงแล้วอาจจะได้ใช้ก็ได้ หรืออาจจะมาช่วยให้เราคิดเรื่องราว/เหตุการณ์ออกมากขึ้นก็ได้

ที่ต้องไม่ลืม (คุณพีทเขียนเล่าไว้ในบล็อกที่แล้ว) ก็คือว่า เราไม่จำเป็นต้องคิดสถานที่และบรรยากาศออกมาหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างจนละเอียดยิบถึงขนาดเขียนแผนที่ได้เลยในขั้นนี้ เราค่อยๆ คิดจากภาพคร่าวๆ ก่อนครับ ได้แค่ไหนแค่นั้น แล้วพอเราทำงานไปเรื่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ เราก็จะลงรายละเอียดมากขึ้นจนชัดเจนเพียงพอสำหรับเขียนออกมาในที่สุด

หัวใจของขั้นนี้คือ การสร้างไอเดียสำหรับการเริ่มต้นนิยายเรื่องใหม่ไงครับ

รายงานว่าตอนนี้คุณพีทก็เริ่มๆ คิดสถานที่และบรรยากาศไปทีละนิดละหน่อยแล้วครับ จากที่กำหนดไว้ว่าจะเขียนแนวแฟนตาซีผจญภัยไม่เน้นความรัก คุณพีทก็ต้องสร้างดินแดนแฟนตาซีขึ้นมาโลกหนึ่ง ทีนี้พระเอกจะอยู่ตรงไหน ทำไมถึงต้องออกผจญภัย คุณพีทก็ต้องหาช่องทางสักเล็กน้อย ตอนนี้เล็งไว้ว่าตัวพระเอกเองจะต้องอยู่ในเมือง และความจำเป็นทางครอบครัวจะเป็นตัวบีบบังคับให้ต้องผจญภัย ตอนผจญภัยก็ค่อยออกไปร่อนเร่ในป่าเขาตามสูตรนิยายผจญภัยทั่วไป

บรรยากาศของนิยายแฟนตาซีก็มีหลายแบบ มีทั้งแบบโบราณ คือเป็นสังคมที่ใช้เทคโนโลยีหนักไปทางเครื่องกล อาจจะใช้แรงงานคน สัตว์ หรือพลังงานจากธรรมชาติ ในการหมุนเฟืองต่างๆ เพื่อทำงาน แต่ไม่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างโลกยุคปัจจุบัน (บางโลก/บางเรื่องมีการใช้พลังงานจากการเผาไหม้เช่นพลังงานไอน้ำ) นิยายแฟนตาซีบางเรื่องใช้พลังเวทมนตร์หรือพลังเหนือธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ใช้บรรยากาศเทคโนโลยีที่เน้นพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน และอุปกรณ์อิเลกโทรนิกส์อย่างยุคปัจจุบัน (มันคงทำให้เสียบรรยากาศมั้งครับ)

นิยายเรื่องนี้ของคุณพีทก็จะเดินตามแนวนี้ครับ เพราะส่วนตัวชอบบรรยากาศแบบนี้ มันขลังดี ว่างั้น ฮ่าๆๆ นึกถึงนิทานฝรั่ง หรือบรรยากาศแบบในลอร์ดออฟเดอะริงส์ หรือบรรยากาศแบบในนิยายแฟนตาซีกระแสหลักของฝรั่ง ผู้คนก็จะใส่เสื้อผ้าแบบโบราณๆ อะไรทำนองนั้น แต่ของคุณพีทคงไม่ใช่เสื้อผ้าฝรั่งโบราณเสียทีเดียว แล้วก็ไม่ใช่เสื้อผ้าไทยด้วย (เพราะเป็นนิยายแฟนตาซีนะ ไม่ใช่แนวประวัติศาสตร์) จะเป็นแบบที่คุณพีทชอบและอยากให้เป็น ฮ่าๆๆ แล้วมานั่งคิดสร้างภูมิอากาศให้เหมาะสมกับเสื้อผ้าอีกที (จริงๆ มันต้องออกแบบเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศนี่นา!)

นอกจากตัวสถานที่ที่เป็นพื้นที่แล้ว คุณพีทก็กำลังคิดไปถึงบรรยากาศทางสังคม สภาพสังคม ครอบครัว กลุ่มคน ชนชั้นในสังคมด้วยครับ ไม่ได้คิดเยอะนะ แค่นิดๆ หน่อยๆ เพื่อจะหาที่ให้พระเอกยืนเท่านั้นเอง ว่าจะเป็นครอบครัวคนชั้นไหน พ่อแม่เป็นใคร ทำไมถึงต้องออกผจญภัย แต่คุณพีทไม่อยากเขียนเรื่องเจ้าชายเจ้าหญิงเท่าไหร่ ถึงแม้ว่านิทานฝรั่งที่อ่านจะเป็นเรื่องเจ้าชายเจ้าหญิงเสียเยอะ แต่อยากให้พระเอกเป็นคนธรรมดามากกว่า (เหมือนคนเขียน!) แต่จะมีเจ้าชายเจ้าหญิงเป็นตัวประกอบบ้างหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เหมือนกัน เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที

ยังคิดไม่เสร็จ ไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุมทุกแง่มุม แต่ก็พอให้เห็นบรรยากาศของเรื่อง ว่านิยายเรื่องนี้จะออกมาเป็นทำนองไหนนะครับ ถือว่ามีประโยชน์ต่อการสร้างไอเดีย เย้ ตบมือให้ตัวเอง

บล็อกนี้คุยเรื่องสถานที่และบรรยากาศแล้ว วันหลังมาคุยกันเรื่องตัวละครต่อครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น